การเลือกลูกเปตอง

            เทคนิคการเล่นกีฬาเปตองในที่นี้เป็นเทคนิคทั่วไปหรือเทคนิคพื้นฐานซึ่งผู้เล่นหรือนักกีฬาเปตองทุกท่านควรจะทราบ ทั้งนี้เพราะว่าเป็นพื้นฐานของการเล่นกีฬาเปตองที่ถูกวิธีและถูกต้องตามหลักสากล  เทคนิคที่จะกล่าวต่อไปนี้จะเริ่มตั้งแต่การเลือกลูกเปตองนั้นจะเลือกอย่างไรให้มีความเหมาะสมกับผู้เรียน  การจัดลูกที่ถูกต้องจับแบบใด  การโยนและการยิงที่ถูกวิธีนั้นมีแบบไหนบ้าง  มีรายละเอียดดังนี้
          การเลือกลูกเปตอง
            การเลือกลูกเปตองให้เหมาะสมกับผู้เล่นนี้นับว่ามีความสำคัญมาก  เพราะผู้เล่นแต่ละคนมีความแตกต่างกันทั้งด้านสรีระของร่างกาย  ความแข็งแรงของช่วงแขน  ข้อมือ  และนิ้วมือด้วยเหตุที่กีฬาเปตองเป็นกีฬาที่ต้องใช้มือจับและบังคับลูกเปตองเป็นไปตามความต้องการของผู้เล่น  เพราะฉะนั้น  ขนาดและลักษณะของมือ  เช่น  ขนาดของฝ่ามือ  ความหนาบางของมือ  ความสั้นและความยาวของนิ้วมือ  ตลอดจนความแข็งแรงหรืออ่อนแอของร่ายกาย  ช่วงแขนข้อมือและนิ้วมือ  จะเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องนำมาพิจารณาในการเลือกลูกเปตอง  นอกจากนี้หากจะซื้อลูกเปตองไว้เล่นประจำตัวแล้วควรจะศึกษาองค์ประกอบต่างๆ  ของลูกเปตอง  ทำความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ของแต่ละองค์ประกอบและสอบถามนักกีฬาเปตองคนอื่นๆ หรือผู้รู้  แล้วนำมาประมวลและเปรียบเทียบกัน  ก็จะช่วยให้สามารถพิจารณาตัดสินใจเลือกซื้อลูกเปตองได้อย่างเหมาะสม
            อย่างไรก็ตาม  องค์ประกอบต่าง ๆ ของลูกปตองดังได้กล่าวมาแล้วนั้น  องค์ประกอบด้านขนาดและน้ำหนักจะมีความสำคัญมากที่สุด  ส่วนองค์ประกอบอื่น ๆ เป็นองค์ประกอบที่รองลงไป
            มีนักกีฬาเปตองไม่น้อยทีเดียวที่ประสบความยุ่งยากและไม่แน่ใจเกี่ยวกับการเลือกลูกเปตอง และมักจะมีคำถามที่เหมือน ๆ กันว่า
            “เลือกลูกเปตองอย่างไรจึงจะเหมาะสมกับผู้เล่น”
“มือเกาะหรือมือวางควรใช้ลูกเปตองขนาดเล็กแต่มีน้ำหนักมาก ใช่หรือไม่”
            “มือยิงควรจะใช้ลูกเปตองขนาดใหญ่แต่น้ำหนักเบา ใช่หรือไม่”
            “แล้วมือแก้เกมควรจะใช้ลูกเปตองขนาดไหน น้ำหนักเท่าใด”
            เกี่ยวกับเรื่องนี้ผู้เขียนเห็นว่ายังไม่มีผู้ใดพิสูจน์ออกมาจนเป็นสูตรสำเร็จว่ามือเกาะ มือแก้เกมหรือมือยิงต้องใช้ลูกเปตองขนาดและน้ำหนักเท่าใด  อย่างไรก็ดีใคร่ขอเสนอว่า  ผู้เล่นที่มีโอกาสได้สัมผัสและได้เล่นลูกเปตองที่มีขนาดและน้ำหนักแตกต่างกันเรื่อย ๆ จนมีความรู้สึกรุ้ดีว่าควรจะใช้ลูกเปตองขนาดไหนและน้ำหนักเท่าใด
1.1     การเลือกขนาดของลูกเปตอง  การเลือกขนาดของลูกเปตองมี 2 วิธีดังนี้
ก.  ใช้ปลายนิ้วทั้งห้าโอบลูกเปตอง มีข้อแนะนำบางประการเกี่ยวกับการเลือกขนาดของลูกเปตองให้เหมาะสมกับผู้เล่น  ซึ่งได้รับความรู้มาจากการได้สอบถามพนักงานของบริษัทOBUT ซึ่งได้รับคำแนะนำว่าให้หงายมือขึ้นแล้ววางลูกเปตองลงกลางฝ่ามือ  ใช้นิ้วทั้งหมดโอบลูกเปตองไว้  อย่าจับให้แน่นจนเกินไป  ลูกเปตองที่มีขนาดเหมาะสมกับมือมากที่สุดนั้น  นิ้วมือทั้งสี่จะอยู่ในลักษณะชิดกัน  ปลายนิ้วมือทั้งสี่จะอยู่ในตำแหน่งกึ่งกลางลูก  นิ้วหัวแม่มือจะโอบลูกเช่นกันและปลายนิ้วจะแตะกับนิ้วชี้ด้านข้าง
ข.  ใช้นิ้วกลางหนีบลูกเปตอง  นอกจากการเลือกขนาดของลูกเปตองตามวิธีดังกล่าวข้างต้นแล้วยังมีวิธีการเลือกลูกเปตองอีกวิธีหนึ่งซึ่งใช้ได้ดีพอควร  วิธีนี้คือ  ใช้นิ้วกลางเพียงนิ้วเดียวหนีบลูกเข้ากับอุ้งมือแล้วคว่ำมือดูว่าลูกเปตองที่จับได้จุดศูนย์กลางหรือไม่  กล่าวคือปลายของนิ้วกลางกับสันมืออยู่ในลักษณะเป็นเส้นผ่าศูนย์กลางของลูกเปตองหรือไม่  ถ้าอยู่ในลักษณะเป็นเส้นผ่าศูนย์กลางก็ถือว่าลูกเปตองนั้นมีขนาดเหมาะกับมือ
วิธีการที่ใช้ในการเลือกลูกเปตองมีสองวิธีดังได้กล่าวแล้ว  ผู้เล่นจะใช้วิธีใดวิธีหนึ่งหรือทั้งสองวิธีประกอบกันก็ได้  แต่สำหรับวิธีแรกนั้นค่อนข้างจะได้มาตรฐานและมีความน่าเชื่อถือกกว่า
1.2     การเลือกน้ำหนักของลูกเปตอง
เมื่อผู้เล่นมีวิธีการเลือกขนาดของลูกเปตองให้เหมาะกับขนาดของมือแล้ว  ในขั้นต่อไป  คือ  การเลือกน้ำหนักของลูกเปตองให้สัมพันธ์กับผู้เล่นได้อย่างไร  เกี่ยวกับเรื่องนี้ขอเสนอแนะว่า  ผู้เล่นควรพิจารณาตนเองถึงความอดทนแข็งแรงของร่างกาย  โดยเฉาพะช่วงแขน  ข้อมือ และนิ้วมือ  เพราะในการเล่นเปตองอวัยวะส่วนนี้จะทำงานมากที่สุด  หากเลือกลูกเปตองที่มีน้ำหนักมากการเล่นก็จะได้ผลในระยะต้น ๆ เท่านั้น เพราะความเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อยังไม่เกิดขึ้น  แต่ถ้าหากเล่นติดต่อกันไปนาน ๆ ก็จะเกิดความเมื่อยล้า  เกิดความรู้สึกในขณะนั้นว่าลูกเปตองหนักขึ้น  และจะส่งผลให้การเล่นไม่ค่อยได้ผลนักเพราะควบคุมลูกให้เป็นไปตามความต้องการไม่ได้  ในทำนองเดียงกันหากเลือกลูกเปตองที่มีน้ำหนักเบาผุ้เล่นจะรู้สึกว่าในขณะที่เล่นไม่ว่าจะเป็นการโยนหรือยิงลูกจะลอยผิดปกติ  ควบคุมลูกเปตองลำบาก  เป็นต้น  ที่เป็นเช่นนี้เพราะน้ำหนักของลูกเปตองไม่สัมพันธ์กันอย่างพอดีกับความแข็งแรงของร่างกายโดยเฉพาะกล้ามเนื้อช่วงแขน ข้อมือ และนิ้วมือ
ผู้เล่นจะรู้ได้อย่างไรว่าตัวเราเองมีความแข็งแรงของกล้ามเนื้อช่วงแขน ข้อมือ และนิ้วมือต่างกับคนอื่น  ในกรณีเช่นนี้ผู้เล่นอาจเปรียบเทียบได้โดยไปขอจับลูกเปตองของผู้เล่นคนอื่น ๆ ที่ใช้เล่นประจำอยู่  แล้วจะเห็นว่าแต่ละคนใช้ลูกเปตองที่มีน้ำหนักแตกต่างกันออกไปมากมาย  ด้วยเหตุนี้จึงเป็นคำตอบได้ดีว่าเราแตกต่างกับผู้อื่นอย่างไร  หรืออาจจะเปรียบเทียบง่าย ๆ โดยผู้เล่นนำลูกเปตองของตนไปให้คนอื่นลองเล่นดู เพื่อจะบอกว่าลูกนี้หนักไปหรือไม่  นั่นแสดงว่าเขามีความแข็งแรงของกล้ามเนื้อช่วงแขน  ข้อมือและนิ้วมือมากน้อยกว่าเพียงใดตามความรู้สึกของเขา
Marco Foyot ได้ให้ข้อแนะนำในการเลือกน้ำหนักของลูกเปตองไว้สองประการคือ
ก.     ให้พิจารณาสภาพสนามว่าเป็นอย่างไร
1)  หากสนามเปตองที่ใช้เล่นมีพื้นเรียบและไม่เปียก ให้ใช้ลูกเปตองที่มีน้ำหนักเบา ขนาดประมาณ 660 – 690 กรัม
2)   หากสนามเปตองมีพื้นขรุขระ เป็นหิน หรือพื้นผิวเปียกชื้น ควรใช้ลูกเปตองที่หนัก คือประมาณ 690 – 720 กรัม
ข.     ให้พิจารณาผู้เล่นแต่ละคน
1)  มือเกาะ ควรใช้ลูกเปตองที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาด 71 – 73 มิลลิเมตร  น้ำหนักประมาณ 680 – 720 กรัม
2)  มือยิงหรือมือตีควรใช้ลูกเปตองที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 73 – 76 มิลลิเมตร น้ำหนักเบา ระหว่าง 660 – 700 กรัม
3)  มือแก้เกม  ควรใช้ลูกเปตองที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 72 – 74 มิลเมตร  น้ำหนักประมาณ 670 – 710 กรัม
อย่างไรก็ตาม  มีข้อสังเกตบางประการสำหรับนักกีฬาเปตองของไทยส่วนใหญ่จะเล่นลูกเปตองที่มีน้ำหนักระหว่าง 660 -700 กรัม  และมีนักกีฬาเปตองจำนวนมากที่นิยมเล่นลูกเปตองน้ำหนัก 690 กรัม ซึ่งหากพิจารณาโดยส่วนรวมเกี่ยวกับขนาดรูปร่างของคนไทยแล้ว น้ำหนัก 670 – 690 กรัม น่าจะเหมาะสมที่สุด  และขนาดของลูกเปตองที่เหมาะสมคือ มีเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 71 – 75 เซนติเมตร
1.3     การเลือกลักษณะของลูกเปตอง
ขนาดและน้ำหนักของลูกเปตองเป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญและสัมพันธ์กับผู้เล่นเป็นอันดับแรกที่จะต้องนำมาพิจารณาในการเลือกลูกเปตอง  ขั้นต่อไปจะกล่าวถึงองค์ประกอบของลูกเปตองด้านลักษณะของลูก ยี่ห้อและแบบของลูก  ซึ่งเป็นองค์ประกอบรองลงไปว่ามีผลต่อผู้เล่นอย่างไร  จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมาพิจารณาในการเลือกลูกเปตอง
จำคำถามที่ว่า “ควรจะเล่นลูกเกลี้ยงหรือลูกลาย”  คำถามนี้ยากที่จะตอบแบบชี้ขาดลงไปว่าควรจะเล่นลูกชนิดไหน  เพราะยังไม่มีข้อมูลอะไรมาชี้วัดได้อย่างแน่ชัด  แต่ก็มีข้อที่น่าสงสัยอยู่บางประการว่า ลักษณะลวดลายของลูกเปตองนี้ทำไมทางบริษัทผู้ผลิตทุกกยี่ห้อจึงออกแบบคล้ายกัน  ไม่ว่าจะเป็นลายหนึ่ง ลายสอง หรือสายสามก็ตาม เกี่ยวกับเรื่องนี้จึงอาจจะสันนิษฐานได้ว่าลูกเกลี้ยงกับลูกลายที่นักเปตองเล่นอยู่ในปัจจุบันมีผลต่อการเล่นแทบจะไม่แตกต่างกัน ฉะนั้น การจะเลือกเล่นลูกเปตองที่เป็นลูกเกลี้ยงหรือลูกลายน่าจะอยู่ในดุลยพินิจ ความเชื่อ และความชอบของผู้เล่นมากกว่า
สำหรับเรื่องนี้ Marco Foyot  ได้ให้ข้อแนะนำว่าที่น่าพิจารณาในการเลือกลูกเปตองว่าจะใช้ลูกเกลี้ยงหรือลูกลายนั้นให้พิจารณาสนามเปตองที่ใช้เล่นเป็นประกรสำคัญ  กล่าวคือ หากสนามมีพื้นผิวเรียบและไม่เปียกชื้นให้ใช้ลูกเกลี้ยงหรือลูกที่มีลายน้อย แต่ถ้าหากสนามมีพื้นผิวขรุขระเป็นหินและไม่เปียกชื้นควรใช้ลูกเปตองที่มีลายมาก  และสำหรับมือยิงแล้วโดยทั่วไปควรใช้ลูกเกลี้ยงหรือลูกที่มีลายน้อยที่สุด
1.4     การเลือกยี่ห้อและแบบของลูกเปตอง
สำหรับองค์ประกอบสุดท้ายที่จะกล่าวถึงคือ  องค์ประกอบด้านยี่ห้อและแบบของลูกเปตอง  ปัจจุบันประเทศไทยเราสั่งลูกเปตองเข้ามาจำหน่ายหลายยี่ห้อด้วยกัน  และแต่ละยี่ห้อก็จะแบบต่าง ๆ ให้เลือกมากมาย  ดังนั้นผู้แล่นควรจะเลือกซื้อลูกเปตองที่ได้รับการรับรองจากสหพันธ์เปตองนานาชาติ และ/หรือ จากสมาคมเปตองแห่งประเทศไทย  นอกจากนี้  แบบของลูกเปตองก็มีความสำคัญและจำเป็นที่จะต้องนำมาพิจารณาด้วยเหมือนกัน เพราะแต่ละแบบทางบริษัทผู้ผลิตจะออกแบบให้มีความแตกต่างกันในด้านคุณภาพของลูกเป็นสำคัญ  แน่นอนในด้านราคาต้องเป็นตามคุณภาพเช่นกัน  ในเรื่องแบบของลูกนี้ถ้าพิจารณากันอย่างลึกซึ่งแล้วจะเป็นความแตกต่างกันในแต่ละแบบ เช่น ใช้เหล็กกล้าผสมสารบางชนิดทำให้ลูกแข็งมากและมีแรงต้านทานต่อการกระทบสูง  เหมาะสำหรับใช้เป็นลูกเกาะ แต่ไม่เหมาะสำหรับใช้มือยิงเพราะเนื้อเหล็กแข็งเกินไปแรงสะท้อนมีมาก  บางชนิดก็ผสมด้วยสารที่ทำให้เนื้อเหล็กอ่อนมีความยืดหยุ่นสูง เพราะสำหรับใช้ยิง  แต่ไม่เหมาสำหรับใช้เกาะ เป็นต้น

ข้อเสนอแนะสำหรับการที่จะเลือกซื้อลูกเปตองควรจะซื้อลูกเปตองที่มีชุดหนึ่ง 3 ลูก จะดีกว่าชุดละ 2 ลูก เพราะจะมีประโยชน์ต่อตัวผู้เล่นเองที่จะได้ทั้งขนาด น้ำหนัก ลักษณะ รหัส ยี่ห้อ และแบบเหมือนกันทั้งหมด  ใช้แข่งขันแบบตัวต่อตัวก็ได้เพราะใช้ 3 ลูก แบบคู่ก็ใช้คนละ 3 ลูก นอกจากนี้ในการฝึกซ้อมของผู้เล่น  จำนวนลูกเปตอง 3 ลูกก็พอดิบพอดีตลอดจนการหิ้วไปไหนก็สะดวก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น