ประวัติกีฬาเปตองในประเทศไทย

ประวัติความเป็นมากีฬาเปตองในประเทศไทย
กีฬาเปตองได้เริ่มเข้ามาในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2518 โดยการริเริ่มของนายจันทร์  โพยหาญ นำกีฬาเปตองเข้ามาเผยแพร่ให้คนรู้จัก อย่างเป็นทางการคนแรก แต่ขณะนั้นยังขาดอุปกรณ์ การเล่น (ลูกบูล)  จึงได้ปรึกษาและชักชวนนายดนัย  ตรีทัศนถาวรและนายชัยรัตน์  คำนวณ  ซึ่งเป็นนักธุรกิจที่มีชื่อเสียงมากในขณะนั้น  เป็นผู้ลงทุนสั่งลูกเปตอง (ลูกบูล)  เข้ามาจำหน่ายและเผยแพร่ในประเทศไทย
แต่เนื่องจากกีฬาเปตองยังเป็นกีฬาใหม่ต่อคนไทยอยู่มาก  ยังมีคนรู้จักน้อย  การจำหน่วยลูกเปตอง (ลูกบูล)  จึงยังจำหน่ายไม่ได้  แต่นายดนัย  ตรีทศถาวร  ซึ่งเป็นผู้มองการไกลและเห็นประโยชน์และความสำคัญของกีฬาเปตอง  ลูกเปตอง (ลูกบูล)  ที่ตนเองสั่งเข้ามาจำหน่วยจึงได้แจกจ่ายให้แก่ส่วนราชการ  ทหาร  ตำรวจ  รวมทั้งภาคเอกชนที่สนใจทั่วไป  เพื่อเป็นการเชิญชวนให้หันมาเล่นกีฬาประเภทนี้ดูบ้าง 
ต่อมานายจันทร์  โพยหาญได้นำเรื่องนี้ไปปรึกษากับนายศรีภูมิ  สุขเนตร  ซึ่งเป็นอดีตนักเรียนเก่าฝรั่งเศส (ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข)  ซึ่งมีความรู้ความสามารถในด้านกีฬาเปตองเป็นอย่างดี  และอีกหลายท่านที่มิได้กล่าวนาม (เพราะมีจำนวนมาก)  ได้ร่วมกันจัดตั้งสมาคมเปตองและโปรวังซาลแห่งประเทศไทย  ขึ้นเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน  2519  โดยมีนายศรีภูมิ  สุขเนตร  เป็นนายกสมาคมคนแรก
เมื่อจัดตั้งสมาคมเปตอง และโปรวังซาลแห่งประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว  คณะกรรมการผู้ก่อตั้งได้ช่วยกันรณรงค์เผยแพร่  และสาธิตการเล่นเปตองมาโดยตลอด  แต่ไม่ได้รับความสำเร็จเท่าที่ควร  เพราะยังขาดผู้สนับสนุน  จนคิดว่าจะล้มเลิกความมุ่งหมายที่จะเผยแพร่  แต่โชคยังเข้าข้างผู้ที่มุ่งหวังกระทำความดีเสมอ  ตราบเมื่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี  เสด็จพระราชดำเนินที่เขื่อนห้วยหลวง  จังหวัดอุดรธานี  เมื่อ พ.ศ. 2521  นายจันทร์  โพยหาญ  ได้นำอุปกรณ์กีฬาเปตองไปแนะนำวิธีการเล่นให้แก่ข้าราชบริพาร  และพระองค์ทรงโปรดปรานมากทรงรับสั่งว่า พระองค์เคยเล่นกีฬาประเภทนี้ตั้งแต่พระองค์มีพระชนอายุ  30  กว่า  กีฬาเปตองมีประโยชน์มากได้ทั้งบริหารร่างกายเพื่อให้มีสุขภาพดี  และสร้างสรรค์ความสามัคคีในหมู่คณะซึ่งมีประโยชน์มากมายสำหรับคนไทย  ขอให้นายจันทร์  โพยหาญ  จงทำหน้าที่ต่อไป  พระองค์จะช่วยส่งเสริมและเผยแพร่ให้อีกทางหนึ่ง




จากนั้น  ทรงเสด็จที่เขื่อนน้ำอูน  จังหวัดสกลนคร  พระองค์ทรงรับสั่งให้จัดการแข่งขัน เปตอง  ชิงชนะเลิศภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  โดยให้ข้าราชการ  ทหาร  ตำรวจ  และประชาชน  ทุกจังหวัดในภาคนั้น  เข้าร่วมการแข่งขันด้วย  มีจำนวน  78  ทีม (ทีมละ 3 คน)  ซึ่งพระองค์ทานและสมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา  ทรงได้ลงร่วมทำการแข่งขันในครั้งนั้นด้วย



กีฬาเปตองเริ่มเป็นที่รู้จักและนิยมเล่นกันอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้นตามลำดับทั่วทุกภาคต่างๆ  ที่พระองค์เสด็จเยี่ยมราษฎร  พระองค์ท่านทรงจัดให้มีการแข่งขันเปตองขึ้น  และทุกครั้งที่มีการจัดการแข่งขัน  พระองค์ท่านก็จะทรงร่วมแข่งขันด้วยทุกครั้งไป  ฝีพระหัตถ์ของพระองค์ในการทรงเปตองเป็นที่ยอมรับว่าอยู่ในขั้นดีเยี่ยม  และทุกครั้งที่ทรงลงทำการแข่งขันมักจะเป็นมือเข้าหรือมือแก้เกม  พระองค์ทรงโปรดกีฬาเปตองมาก  บางครั้งทรงรับสั่งว่า  "เปตองเป็นยาวิเศษสำหรับฉัน  ด้วยเหตุนี้นักกีฬาเปตองทั่วประเทศจึงให้สมญานามกีฬาเปตองว่า กีฬาสมเด็จย่า” 







วันที่ 9 ตุลาคม 2527 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับสมาคมเปตองและโปรวังซาลแห่งประเทศไทยไว้ในพระอุปถัมภ์  และวันที่ 22 เมษายน 2530  ได้เปลี่ยนชื่อสมาคมเปตองและโปรวังซาลแห่งประเทศไทย  เป็นสหพันธ์เปตองแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี  ต่อมาได้แก้ไขข้อบังคับสหพันธ์ฯ  เพื่อให้เป็นไปตาม  พ.ร.บ. การกีฬาแห่งประเทศไทยจึงเปลี่ยนชื่อจากสมาพันธ์      เปตองแห่งประเทศไทยเป็น  สมาคมเปตองแห่งประเทศไทย  เมื่อวันที่  12 มิถุนายน 2543  และได้รับการรับรองจากการกีฬาแห่งประเทศไทย  สนับสนุนงบประมาณเป็นเงินอุดหนุนสมาคมฯ  ประจำปีจากรัฐบาลตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 เป็นต้นมา  ล่าสุดได้เปลี่ยนชื่อเป็น  “สมาคมกีฬาเปตองแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีตาม พ.ร.บ.การกีฬาแห่งประเทศไทย ปี 2558  เมื่อวันที่  12  สิงหาคม 2558 


3 ความคิดเห็น: