การจับลูกเปตอง

            การจับลูกเปตอง
            วิธีการจับลูกเปตองแบบต่าง มีดังนี้
1.1        แบบนิ้วหัวแม่มือทั้งหมดอยู่ห่างกัน  หรือเรียกอีกอย่างว่าการจับด้วยปลายนิ้วมือ วิธีนี้พบเห็นทั้งการโยนลูกเข้าเป้า และการยิง  แต่พบเป็นจำนวนไม่มากนัก ลักษณะการจับลูกเปตองคล้ายกับการหยิบสิ่งของหรือวัตถุต่างๆ ตามธรรมชาติ


            การจับลูกเปตองโดยวิธีนี้เหมาะสำหรับผู้เล่นที่กำลังของข้อมือไม่ค่อยแข็งแรง  อาศัยช่วงแขนส่งลูกเปตองออกไป  ลูกที่ออกจากมือจะเกิดการหมุนกลับแบบลูกสกรู (Screw)  น้อยมากหรือไม่มีเลย  ทำให้ไม่เกิดแรงเหนี่ยวรั้งของลูก  ควบคุมยากทั้งทิศทางและระยะทาง  สำหรับมือวางหรือมือเกาะ  หากสนามมีสภาพที่เรียบ  เช่น  สนามหินฝุ่น  สนามลูกรังแบบละเอียดหรือสนามลู่วิ่ง  การจับแบบนี้จะโยนลูกได้ดีพอสมควร  เพียงแต่กะน้ำหนักของการโยนให้สัมพันธ์กับระยะทางระหว่างจุดที่โยนกับตำแหน่งที่ลูกเป้าอยู่  แต่ถ้าหากเป็นสนามวิบากซึ่งต้องใช้เทคนิคในการโยนลูกโด่งหรือที่นักกีฬาเปตองส่วนใหญ่เรียนกันว่าลูกดร๊อป (Drop)  แล้วการจับลูกแบบนี้แทบจะใช้ไม่ได้ผลเลยเพราะการโยนลูกดร๊อปต้องอาศัยข้อมือสะบัดลูกขึ้นไปและนิ้วมือทั้งหมดจะควบคุมทิศทางในการปล่อยลูก  เมื่อนิ้วมือถูกปล่อยให้เป็นอิสระไม่ชิดกันโอกาสที่ลูกเปตองจะหลุดจากมือก่อนอันเนื่องมากจากแรงเหวี่ยงจะมีมาก  อีกประกาศหนึ่งนิ้วมือของคนเราแต่ละนิ้วนั้นจะมีความแข็งแรงไม่เท่ากัน  ในขณะที่โยนลูกหากนิ้วมือนิ้วใดไม่สามารถควบคุมแรงส่งของลูกเปตองที่ปล่อยออกไปก็จะทำให้เสียทิศทาง  สำหรับมือยิงการจับลูกเปตองแบบนี้มีให้พบเห็นน้อยมาก  ไม่ค่อยมีใครนิยม  ที่เป็นเช่นนี้น่าจะเป็นเพราะว่าในการยิ่งลูกนั้นต้องใช้แรงมากในการเหวี่ยงเพื่อส่งลูกให้ไปถึงเป้าหมาย  โอกาสที่ลูกจะหลุดจากมือก่อนและลูกจะเสียทิศทางจะเป็นไปได้มากเช่นเดียวกับการโยนลูกดร๊อป
           
1.2        แบบนิ้วมือทั้งสี่อยู่ชิดกัน  ส่วนนิ้วหัวแม่มืออยู่ตรงข้ามกับนิ้วทั้งสี่  การจับลูกเปตองลักษณะนี้มีพบเห็นโดยทั่วไป  แต่ก็มากกว่าแบบแรก  โดยเฉพาะพบเห็นมือยิงมากกว่ามือวางหรือมือเกาะ  เหมาะสำหรับผู้เล่นที่มีกำลังข้อมือแข็งแรงปานกลาง  นิ้วมือทั้งสี่จะควบคุมลูกให้ไปตามทิศทาง  นิ้วหัวแม่มือจะช่วยยกและประคองลูกเปตองขึ้น  การโยนส่วนใหญ่จะใช้ช่วงแขนออกแรงส่งลูกเปตองมากกว่าข้อมือ


       ลูกเปตองที่ถูกปล่อยออกไปจากมือจะเป็นไปในลักษณะส่งลูกไปข้างหน้า ทั้งมือเกาะ และมือยิงการปล่อยลูกเปตองจะมีลักษณะเดียวกัน  ใช้โยนได้ทั้งสนามเรียบและสนามวิบาก  สำหรับมือเกาะการโยกลูกดร็อปที่จับแบบนี้หวังผลได้ไม่มากนัก  โดยเฉพาะลูกดร๊อปที่ต้องโยนให้ลูกลอยสูงแล้วตกใกล้ๆ กับตำแหน่งที่ลูกเป้าวางอยู่  เพราะลูกจะหมุนสกรูกลับไม่ถึงตำแหน่งการบังคับลูกให้ตกลงตามจุดที่ต้องการก็ยาก และโอกาสที่ลูกเปตองจะหลุดจากมือก่อนก็มีมากเช่นกัน  สำหรับมือยิงแล้วใช้ได้ผลพอสมควรโดยเฉพาะในระยะ 8 – 10 เมตร แต่ถ้าระยะ 6 – 7 เมตร แล้วลูกที่ยิงมักจะข้ามเป้าหมาย  ผู้เขียนได้เคยสอบถามนักเปตองที่จับลูกโดยวิธีนี้หลายท่านทั้งมือเกาะและมือยิงแล้วได้รับคำตอบที่เหมือนๆ กันว่าช่วยผ่อนแรงดี บังคับลูกได้ตรงทาง
1.3        แบบนิ้วมือทั้งสี่ชิดกันโดยปล่อยนิ้วหัวแม่มือเป็นอิสระ  การจับลูกเปตองแบบนี้พบเห็นมากกว่าสองแบบแรกทั้งมือเกาะและมือยิง  ลักษณะการจับลูกเปตองจะอยู่ในตำแหน่งกลางฝ่ามือ  นิ้วทั้งสี่จับแบบโอบลูกไว้  ส่วนนิ้วหัวแม่มือปล่อยเป็นอิสระไม่สัมผัสลูกเปตองจึงเห็นได้ว่าจะเป็นการจับเพียงสี่นิ้วเท่านั้น



                 การจับลูกแบบนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีกำลังข้อมือแข็งแรง การส่งลูกจะใช้ช่วงแขนกับข้อมือเป็นหลัก ข้อมือจะบังคับให้ลูกเปตองลอยสูงหรือต่ำ  ลูกสกูรกลับมากหรือน้อยก็ได้  นิ้วทั้งสี่จะบังคับให้ลูกที่ปล่อยอกไปในทิศทางที่ต้องการได้ดี  ใช้ได้ผลทั้งสนามเรียบและสนามวิบาก  สามารถโยนและบังคับลูกตกพื้นสนามได้ทุกระยะ  การจับแบบนี้มีข้อจำกัดบางประการ คือ นิ้วมือทั้งสี่จะเมื่อยล้าง่ายเมื่อโยนลูกเปตองติดต่อกันนานๆ เนื่องจากนิ้วทั้งสี่ต้องจับและกดลูกแน่กว่าปกติเพื่อมิให้ลูกหลุดมือในขณะโยนและยิง  หากความเมื่อยล้าของนิ้วมือเกิดขึ้นแล้วโอกาสที่ลูกเปตองจะหลุดจากมือก่อนจะมีมากขึ้น

1.4        แบบนิ้วมือทั้งสี่ชิดกันและใช้นิ้วหัวแม่มือยึดลูกเปตอง  แบบนี้เป็นแบบที่นักเปตองนิยมมากที่สุดทั้งในประเทศและต่างประเทศ  โดยเฉพาะในการแข่งขันเปตองระดับโลกแทบจะกล่าวได้ว่าผู้เล่นทุกคนจับลูกเปตองแบบนี้ทั้งในการโยนและการยิง  ลักษณะการจับนิ้วมือทั้งสี่จะโยนลูกและบังคับลูกให้อยู่ในตำแหน่งกลางฝ่ามือ  ส่วนนิ้วหัวแม่มือจะยึดลูกไว้ในลักษณะช่วยบังคับลูกให้อยู่กลางฝ่ามือเช่นกัน  โดยนิ้วทั้งสี่จะทำหน้าที่ปล่อยและบังคับลูกให้เป็นไปตามทิศทางที่ต้องการ  ส่วนนิ้วหัวแม่มือทำหน้าที่กันลูกไม่ให้หลุดออกไปทางด้านข้างของนิ้วการจับลูกด้วยวิธีนี้นอกจากจะสามารถโยนและบังคับลูกได้ดีทุกระยะเช่นเดียวกับแบบที่  3  แล้วยังมีจุดเด่นอีกบ้างประการ  คือแม้จะโยนลูกโด่งสูงๆ  ก็สามารถบังคับลูกได้โดยไม่หลุดจากมือก่อนเนื่องจากลูกเปตองถูกบังคับไว้ด้วยนิ้วมือทั้งหมด  อีกประการหนึ่งความเมื่อยล้าของนิ้วมือซึ่งเกิดจากการโยนหรือยิงติดต่อกันนานๆ จะไม่เกิดขึ้น



          จากที่ได้เสนอรูปแบบการจัดลูกเปตองทั้ง  4  แบบ  ซึ่งแต่ละแบบต่างมีข้อดีและข้อจำกัดแตกต่างกันไป  แต่เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกันดูแล้วจะเห็นได้ว่าวิธีการจับลูกเปตองในแบบที่  4  เป็นแบบที่ถูกต้องตามหลักสากลนิยมที่สุด  ที่กล่าวเช่นนี้เป็นเพราะว่านอกจากจะมีจุดเด่นทั้งในการโยน  การยิง  การบังคับลูกที่ได้เปรียบกว่าวิธีอื่น  รวมทั้งไม่มีข้อจำกัดแล้ว  การจับลูกเปตองวิธีนี้ผู้เล่นทั้งในประเทศและต่างประเทศต่างก็ให้ความนิยมและเป็นที่ยอมรับกันมากกว่าแบบอื่น

3 ความคิดเห็น: