การเตรียมอุปกรณ์

1. สนามเปตอง

            ผู้เล่นหรือนักกีฬาเปตองควรทราบเกี่ยวกับสนามและอุปกรณ์การเล่นกีฬาเปตองที่จำเป็นในการเล่น  นับตั้งแต่สนาม  ลูกเปตอง  ลูกเป้า  เทปวัดระยะ  ป้ายบอกคะแนน ผ้าเช็ดลูกเปตอง  และเครื่องแต่งกาย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกเปตอง  เพราะถือว่าเป็นเครื่องมือหรือหัวใจที่สำคัญของผู้เล่นหรือนักกีฬาเปตองทุกคน

            กีฬาเปตองเป็นกีฬาที่เล่นง่ายสามารถเล่นในที่ใด ๆ ก็ได้  ไม่ว่าจะเป็นสนามดิน  สนามหินคลุก  สนามหญ้า  และบนพื้นไม้  ยกเว้นสนามคอนกรีต  สำหรับสนามที่ใช้ในการแข่งขันทั่ว ไปจะใช้สนามลูกรังหรือสนามที่ทำด้วยหินคลุก  อัดบดแน่นแข็ง  มีขนาดมาตรฐานกว้าง 4  เมตร และยาว 15 เมตร  เป็นอย่างน้อย  มีเส้นเชือกแสดงเขตสนามให้เห็นเด่นชัด  สำหรับการจัดการขันที่มีทีมผู้แล่นจำนวนมากสนามอาจมีไม่เพียงพอก็สามารถใช้สนามที่มีขนาดเล็กกว่ามาตรฐานได้  ซึ่งอาจจะมีขนาด 3.5 x 13 เมตร ก็ได้  แต่ต้องไม่ต่ำว่า 3 x 12 เมตร เป็นอย่างน้อย สำหรับสนามที่ทำด้วยดินลูกรังหรือสนามหินคลุกมี 2 ประเภท คือ 

          สนามพื้นผิวเรียบ



และสนามพื้นผิวขรุขระ 



            ในกรณีที่สนามแข่งขันสองสนามอยู่ติดกัน  โดยมีเส้นหัวสนามของสนามหนึ่ง และท้ายสนามของอีกสนามหนึ่งร่วมกันอยู่  เส้นที่ใช้ร่วมกันนี้ให้ถือว่าเป็นเส้นฟาล์ว
            ถ้ารอบบริเวณสนามนั้นถูกกั้นด้วยเครื่องกั้นที่มีความแข็ง  เครื่องกั้นนี้จะต้องอยู่นอกเส้นขอบสนามอย่างน้อย 1 เมตร


2. ลูกเปตอง

            คำว่า “ลูกบูล”  เป็นคำเรียกทับศัพท์ในภาษาฝรั่งเศส   คือ “Boule”  ซึ่งแปลว่าลูกกลม  หรือ วัตถุกลม  แต่ในประเทศไทยผู้เล่นนิยมเรียกว่า “ลูกเปตอง”   ลูกเปตองนี้ทำด้วยโลหะ  ด้านในกลวงและเป็นรูปครึ่งวงกลมนำมาผ่านกระบวนการผลิตโดยประกบกันแล้วเชื่อมรอยต่อด้วยความร้อนที่สูงมาก และนำมาเคลือบผิวกลึง และทำลวดลายของลูก



            ก่อนที่จะเริ่มเล่นเปตอง  นอกจากจะต้องศึกษากติกาการเล่นเป็นอันดับแรกแล้ว  การ
ทำความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับองค์ประกอบของลูกเปตองก็มีความสำคัญ  เพราะจะเป็นข้อมูลที่นำมาพิจารณาเลือกซื้อเปตองสำหรับใช้ประจำตัวได้อย่างเหมาะสม
  
            ลูกเปตองลูกหนึ่งจะมีองค์ประกอบอยู่ 5 ประการดังนี้

                        2.1  ขนาด  ได้แก่  ความใหญ่เล็กของลูก  โดยการวัดจากเส้นผ่านศูนย์กลาง  ลูกเปตองจะมีเส้นผ่านศูนย์กลางระหว่าง 7.05 – 8.00 เซนติเมตร (70.5 – 80.0 มิลลิเมตร)  คือ  ขนาดเด็กที่สุด 7.05 เซนติเมตร  และขนาดใหญ่ที่สุด  8.00  เซนติเมตร  ขนาดของลูกเปตองจะไม่ปรากฎเป็นตัวเลขบนผิวของลูกเปตองโดยตรง  แต่จะบอกไว้ที่กล่องใส่ลูกหรือใบรับประกันซึ่งใส่มาพร้อมกับลูกเปตองในกล่องใส่ลูก  โดยพิมพ์ไว้เป็นภาษาฝรั่งเศสว่า “DIAMETRE”  ซึ่งแปลว่า  “เส้นผ่าศูนย์กลาง”
                        ขนาดของลูกจะมีความสัมพันธ์กันกับมือของผู้เล่นโดยตรง  เนื่องจากฝ่ามือของคนเราจะมีขนาดใหญ่เล็กแตกต่างกันไป  ฉะนั้น  ทางบริษัทผู้ผลิตจึงต้องสนองความต้องการของผู้เล่นให้สามารถเลือกใช้ลูกให้พอเหมาะกับมือของตนเองมากที่สุด           
                        2.2 น้ำหนัก  ได้แก่ความหนักเบาของลูก  น้ำหนักของลูกเปตองมีหน่วยวัดเป็นกรัม (grams)  น้ำหนักจะอยู่ระหว่าง  650 – 800 กรัม  คือ  นักหนักเบาที่สุด  650  กรัม  น้ำหนักจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ  ทีละ  10  กรัม  ไปจนถึงหนักที่สุดคือ  800  กรัม  น้ำหนักจะปรากฏชัดเจนบนลูกเปตองและบอกไว้ที่กล่องใส่ลูกรวมทั้งใบรับประกันเช่นเดียวกัน  โดยน้ำหนักของลูกจะแสดงไว้ในช่องใต้คำว่า “POIDS”  แปลว่า  “น้ำหนัก”
                        น้ำหนักของลูกเปตองจะสัมพันธ์กับความแข็งแรงของร่างการโดยเฉพาะช่วงแขน  ข้อมือและนิ้วมือของผู้เล่นแต่ละคนซึ่งจะแตกต่างกันไป  ทั้งทางด้านสรีระของร่างกายและอายุ  ตลอดจนองค์ประกอบอื่นๆ  ของผู้เล่น
                        การแข่งขันสำหรับยุวชนอายุไม่เกิน  11  ปี  อาจจะอนุญาตให้ใช้ลูกเปตองที่มีน้ำหนัก  600  กรัม  และเส้นผ่าศูนย์กลาง  65  มิลลิเมตร  ซึ่งผลิตโดยโรงงานที่ได้รับการรับรอง
                        ห้ามมิให้ถ่วงลูกเปตองด้วยตะกั่ว  หรือทรายโดยลูกเปตองจะถูกห้ามปรับ เปลี่ยนแปรสภาพ  หรือดัดแปลง  หลังจากที่บริษัทผู้ผลิตที่ได้รับการรับรองผลิตออกมา  โดยเฉพาะอย่างยิ่งห้ามดัดแปลงเพื่อประสงค์จะเปลี่ยนแปลงความแข็งของลูกเปตอง
                        2.3 ลักษณะ  ได้แก่ความแตกต่างกันในด้านลวดลายของลูกเปตองเพื่อให้สังเกตได้ง่ายขึ้น  ปกติทางบริษัทผู้ผลิตแต่ละยี่ห้อจะผลิตออกมาคล้ายคลึงกัน  ความแตกต่างกันเบื้องต้นของลูกเปตองที่เห็นเด่นชัดคือ  ลูกเกลี้ยงกับลูกลาย  ลูกเกลี้ยงจะเห็นว่าพื้นผิวของลูกจะราบเรียบเสมอกันหมดทั้งลูก  ไม่มีลวดลายอะไรปรากฏอยู่เลย  ซึ่งส่วนลูกลายนั้นจะมีลักษณะของลวดลายของลูกแตกต่างกันไปหลายรูปแบบ  สามารถแบบออกเป็น  ลาย 1  ลาย 2  ลาย 3  หรือลาย 4  เป็นต้น  ลักษณะของลูกนี้จะดูได้โดยตรงจากลูกเปตอง  หรือถ้าจะดูจากกล่องใส่ลูกในเบื้องแรกจะเห็นไดจากข้างกล่องตรงช่อง “STRIES”  จะมีหมายเลขกำกับไว้ใต้คำนี้  เช่นลูกเกลี้ยงจะเป็นเลข 0  ส่วนลูกลาย 1  จะเป็นเลข 1  ลูกลาย 2  หมายถึง  ลูกที่มีลายเส้นคู่ขนานกัน  2  เส้นก็จะเป็นเลข  2  เป็นต้น


                        เกี่ยวกับความแตกต่างกันในลักษณะหรือลวดลายของลูกเปตองนี้ทางบริษัทผู้ผลิตคงมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ลูกแต่ละชุดมีความแตกต่างกันสามารถเห็นได้ชัดเจนในระยะใกล้และไกลเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เล่น  อีกประการหนึ่งอาจผลิตขึ้นเพื่อให้ดูสวยงาม  ปัจจุบันจะเห็นว่าลูกเปตองมีลวดลายสวยงามน่าจับต้องและจูงในให้น่าซื้อ
                        2.4 รหัส  ลูกเปตองทุกยี่ห้อจะมีต้องรหัสประจำลูกติดไว้และเห็นได้ชัดเจน  ลูกเปตองที่ต่างชุดกันแม้จะมีขนาด  น้ำหนักและลักษณะเหมือนกันก็ตาม  แต่รหัสประจำลูกจะไม่เหมือนกัน  รหัสประจำลูกของแต่ละยี่ห้อจะแตกต่างกันไปตามแต่จะกำหนดขึ้นมาลูกเปตองชุดหนึ่งจะมีรหัสเหมือนกันหมดทั้งชุด  รหัสของลูกเปตองส่วนใหญ่แล้วจะประกอบด้วยอักษรภาษาอังกฤษแล้วตามด้วยตัวเลข  เช่น  A1,  R31,  E22, T48  เป็นต้น
                        รหัสของลูกเปตองนั้นนับว่ามีความสำคัญมาก  ผู้เล่นควรจะต้องจดจำรหัสประจำลูกของตนเองให้ได้  เพราะในการแข่งขันหรือการฝึกซ้อมกันทีมอื่น  อาจจะพบว่าลูกเปตองของผู้อื่นก็เหมือนกับของเราไม่ว่าจะเป็นขนาด  น้ำหนักหรือลักษณะ  หากจำรหัสลูกเปตองของเราได้ก็จะช่วยปกป้องผลประโยชน์ในการเล่นได้เป็นอย่างดี
                        2.5  ยี่ห้อและแบบ  แต่ละบริษัทผู้ผลิตจะบอกยี่ห้อหรือเครื่องหมายการค้า (Trademark)  ลงบนลูกเปตองไว้อย่างชัดเจน  ทั้งนี้เพื่อเป็นการโฆษณาสินค้าและป้องกันการปลอมแปลง  เช่น  ยี่ห้อโอบุต  อังเดกรัล  เจ.บ๊.  วานุซซี่  และยี่ห้องลาฟรอง (F.B.T)  เป็นต้น

                        ส่วนในเรื่องแบบ (Model)  นั้น  ทางบริษัทผู้ผลิตแต่ละยี่ห้อจะผลิตลูกเปตองออกมาแต่ละแบบ  ซึ่งจะมีความแตกต่างกันในด้านคุณภาพและราคาของลูกโดยผู้เล่นจะสามารถเลือกซื้อได้ตามความนิยม

3. ลูกเป้า

            ลูกเป้าในภาษาฝรั่งเศส  เรียกว่า “Buts”  นักกีฬาเปตองของไทยเรียกว่าลูกเป้าหรือลูกแก่น  ลูกเป้าจะมีลักษณะทรงกลม  ทำด้วยไม้หรือวัสดุสังเคราะห์  มีเส้นผ่านศูนย์กลางระหว่าง  30 มิลลิเมตร (สามารถเพิ่มหรือลดได้ไม่เกิน 1 มิลลิเมตร)  อาจจะทาสีก็ได้  แต่ต้องเป็นสีที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน  แต่ในประเทศไทยเรามีทั้งที่ทำด้วยไม้และทำด้วยพลาสติก  ซึ่งถ้าปฏิบัติตามกติกาสากลการเล่นเปตอง  แล้วลูกเป้าพลาสติกจะใช้แข่งขันไม่ได้  และลูกเป้านั้นจะต้องไม่เป็นวัสดุที่มีปฏิกริยากับแม่เหล็ก


4. ผ้าเช็ดลูกเปตอง
            ผ้าเช็ดลูกเปตองมีไว้สำหรับทำความสะอาดลูกเปตองและสำหรับไว้เช็ดมือของผู้เล่นในกรณีที่เล่นเปตองในสถานที่เปียกชื้น  ซึ่งถ้าหากไม่ทำความสะอาดลูกเปตองหรือมือแล้วจะทำให้การโยนเปลี่ยนทิศทางได้  เนื่องจากดินที่ติดอยู่บนลูกเปตองนั้นติดมือหรือทำให้มือผู้เล่นลื่นเช่นเดียวกันในสนามที่พื้นผิวเรียบและมีฝุ่นหากไม่ทำความสะอาดลูกเปตองก็จะทำให้ลูกเปตองลื่นมือได้
            ผ้าเช็ดลูกเปตองไม่ควรมีขนาดใหญ่จนเกินไป  ผู้เล่นจะใช้หรือไม่ใช้ก็ได้ไม่มีข้อบังคับแต่อย่างใด


5. วงกลมสำหรับยืน
            วงกลมที่ใช้สำหรับยืนในการแข่งขันเปตอง  ผู้เล่นหรือนักกีฬาเปตองสามารถที่จะวาดได้เองโดยขนาดของวงกลมนี้ต้องมีขนาดใหญ่พอที่ผู้เล่น  หรือนักกีฬาเปตองสามารถยืนได้เต็มฝ่าเท้าสองข้าง  แต่อย่างไรก็ตาม  วงกลมที่ถูกวาดขึ้นมานี้วัดแล้วจะต้องมีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า  35  เซนติเมตร  ไม่เกิน  50  เซนติเมตร  ในกรณีที่ใช้วงกลมสำเร็จรูปเป็นอุปกรณ์การแข่งขัน  วงกลมนี้จะต้องมีเส้นผ่าศูนย์กลาง  50  เซนติเมตร



6. เทปวัดระยะ/สิ่งอำนวยความสะดวกในการวัด
            ในการเล่นเปตองปัญหาที่เกิดขึ้นเสมอๆ คือ  ลูกเปตองของผู้เล่นทั้งสองฝ่ายอยู่ใกล้กับลูกเป้า  ใกล้เคียงกันมากจนไม่สามารถดูได้ด้วยสายตาว่าฝ่ายไหนใกล้กว่ากันหรือฝ่ายไหนชนะจึงจำเป็นที่จะต้องมีอุปกรณ์การวัดเพื่อหลีกเลี่ยงการโต้แย้งกันของผู้เล่นทั้งสองฝ่าย  อุปกรณ์การวัดนี้มีทั้งการวัดที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ  สำหรับอุปกรณ์ที่วัดที่ไม่เป็นทางการได้แก่  การกะด้วยสายตา  หรือแม้กระทั้งการใช้หลอดกาแฟวัด

            สำหรับอุปกรณ์การวัดที่เป็นทางการหมายถึง  เครื่องมือที่ใช้วัดระยะทางโดยมีหน่วยวัดกำกับไว้บนสายวัด  เช่น ตลับเมตร  ซึ่งเครื่องมือที่ใช้วัดจะมีวิธีการวัดแตกต่างกันไป


7. ป้ายบอกคะแนน
            ในการแข่งขันเปตองนั้นจะตัดสินแพ้ชนะกันภายในเกมเดียว  13  คะแนนเท่านั้น  โดยฝ่ายที่ชนะจะต้องเป็นฝ่ายที่สามารถทำคะแนนได้ครบ  13  คะแนนก่อน  สำหรับรอบแรกหรือรอบคัดเลือก  การกำหนดการแพ้ชนะที่  11  คะแนน  หรือ  13  คะแนน  แล้วแต่คณะกรรมการจัดการแข่งขันจะกำหนดตามความเหมาะสม  ซึ่งในการที่จะทราบว่าผู้เล่นฝ่ายใดได้คะแนนเท่าใดนั้น

            การทำป้ายบอกคะแนนที่ถาวรเหมาะสำหรับติดตั้งไว้ที่สนามเปตองภายในบ้านหรือภายในหน่วยงาน แต่สำหรับการแข่งขันที่ต้องใช้สนามเป็นจำนวนมาก  การใช้ป้ายบอกคะแนนที่ถาวรคงจะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก  ดังนั้น  จึงใช้แผ่นป้ายบอกคะแนนซึ่งทำด้วยกระดาษแทนหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าใบบันทึกคะแนน

            นอกจากป้ายบอกคะแนนที่ทำถาวรและใบบันทึกคะแนนดังกล่าวแล้วยังมีอุปกรณ์สำหรับนับคะแนนขนาดจิ๋วเก็บไว้ในกระเป๋าเสื้อหรือกระเป๋ากางเกงได้  สามารถบันทึกคะแนนได้ทั้งสองฝ่าย  มีประโยชน์สำหรับตรวจดูคะแนนและป้องกันการลืมนับดังภาพ

  
            เครื่องมือนี้จะเป็นแบบใช้วงกลม  2  วงคู่กันหมุนไปมาได้  ตัวเลขจะอยู่ขอบวงกลมตั้งแต่ 0 – 15 วงกลมด้านซ้ายเป็นทีม  A  ด้านขวาเป็นทีม  B  การบันทึกคะแนนให้หมุนวงกลมตัวเลขจะปรากฏในช่องที่เจาะ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น