กลยุทธ์ในการเล่นกีฬาเปตอง

 1. การเลือกผู้ร่วมทีม
เปตองเป็นกีฬาที่เล่นโดยมีผู้เล่น 2 ฝ่าย  แบ่งการเล่นออกเป็นฝ่ายละ 3 คน  ฝ่ายละ 2 คน  และฝ่ายละ 1 คน ในการเล่นเปตองฝ่ายละ 1 คน ไม่ค่อยมีปัญหาทั้งนี้เพราะเป็นการเล่นตัวต่อตัว  ผู้เล่นจะต้องใช้ความสามารถและเทคนิคเฉพาะตัว  สำหรับการเล่นเปตองโดยมีฝ่ายละ 2 คน หรือ 3 คน  นอกจากผู้เล่นจะต้องใช้ความสามารถและเทคนิคเฉพาะตัวแล้วยังต้องอาศัยการเล่นเป็นทีมเวิร์ก(Tram Work) อีกด้วย
การเล่นเปตองเป็นทีมมักจะมีปัญหาเสมอ  สำหรับนักกีฬาเปตองของประเทศไทยปัญหาที่พบบ่อยๆ ก็คือ  ภายในทีมมักจะมีความขัดแย้งกัน  นักกีฬาบางคนใช้อารมณ์ในขณะเล่นและนักกีฬาบางคนทำหน้าที่เป็นเผด็จการแต่ผู้เดียวไม่ฟังเสียงของเพื่อนรวมทีมหรือไม่ให้เพื่อนร่วมทีมมีส่วนในการตัดสินใจด้วย  และในที่สุดเมื่อเล่นหรือแข่งขันเสร็จแล้วก็จะรวมตัวกันไม่ติด  ต่างฝ่ายต่างก็แยกกันไปตั้งทีมใหม่  หรือเลิกเล่นไปเลย  ปัญหาต่างๆ  เหล่านี้เป็นปัญหาในเรื่องของทีมเวิร์กแทบทั้งสิ้น  หรืออีกนัยหนึ่งคือการเลือกผู้ร่วมทีมที่ไม่ดีนั้นเอง
ในการเลือกผู้ร่วมทีมควรพิจารณาองค์ประกอบต่างๆ ดังนี้
      1. ความสามารถทางร่างกาย  ความสามารถทางร่างกายนี้แม้จะไม่มีมาตรฐานกำหนดไว้ว่า  ผู้เล่นเปตองจะต้องมีความสามารถและแข็งแรงทางร่างกายขนาดไหนเพียงใด  แต่จะต้องคำนึงถึงเพราะว่าในการเล่นเปตองส่วนมากแล้วเป็นการเล่นที่ใช้เวลานานตั้งแต่เช้าจรดเย็น  หรือทั้งวันทั้งคืนในกรณีที่เป็นการเล่นแบบมาราธอน  ฉะนั้นผู้เล่นควรจะต้องมีร่างกายที่สมบูรณ์และมีความอดทนต่อความเมื่อยล้าและแสงแดดที่แผดเผา
      2. ความสามารถทางจิตใจ  ความสามารถทางจิตใจของบุคคลเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการเล่นกีฬาเปตอง  ทั้งนี้  เพราะว่าคนที่จะเล่นเปตองให้ดีนั้นต้องมีจิตใจสมบูรณ์  ไม่เป็นคนขี้โมโห  ฉุนเฉียวหรือมีลักษณะก้าวร้าวระรานผู้อื่น  หากผู้เล่นเป็นบุคคลขี้โมโหใช้แต่อารมณ์ก็จะทำให้ระส่ำระสาย  ซึ่งอาจถึงขั้นทะเลาะกัน  ฉะนั้นในการเลือกผู้ร่วมทีมควรจะเลือกผู้ที่มีอารมณ์ที่เหมือนกันหรือคล้ายคลึงกัน  เช่น  ถ้าเป็นผู้ที่สุขุมเงียบทั้งทีมก็ควรจะเป็นประเภทนี้  แต่ถ้าเป็นผู้ที่ร่าเริงก็ควรจะร่าเริงทั้งทีม  แต่ทั้งนี้จะต้องไม่เป็นผู้ที่ใช้แต่อารมณ์และที่สำคัญสภาพจิตใจต้องสมบูรณ์  กล่าวคือ  ไม่ตื่นเต้นเมื่ออยู่ในเกมที่ตึงเคลียดหรือเกมที่สำคัญๆ
      3. ความสามารถทางฝีมือ  ความสามารถทางด้านนี้นับว่ามีความสำคัญมาก  ผู้เล่นที่มีฝีมือใครก็อยากจะให้ร่วมทีมด้วย  ฉะนั้น ภายในทีมจะต้องมีผู้เล่นที่มีฝีมือหรือมีความสามารถในการเล่นเปตองด้วย  มิใช่ว่าใครก็สามารถร่วมทีมได้  เพราะฉะนั้นแล้วจะทำให้ทีมไม่ประสบความสำเร็จ
     4.  เป็นที่ยอมรับของเพื่อนร่วมทีม  หรือสัมพันธภาพภายในทีม  ผู้เล่นที่เพื่อนร่วมทีมไม่ยอมรับ  หากมีองค์ประกอบอื่นๆ  ครบถ้วน  เช่น มีความสามารถทางร่างกาย  จิตใจและมีฝีมือ  ก็ไม่สามารถที่จะทำงานกับเพื่อนร่วมทีมได้  ฉะนั้นภายในทีมจะต้องมีความยึดติดระหว่างผู้เล่นแต่ละคนอย่างเหนียวแน่นมีความเชื่อมั่นซึ่งกันและกันยอมรับซึ่งกันและกันก็จะช่วยเสริมสร้างการเล่นเปตองที่เป็นทีมได้อย่างดี
      5.  ความสมดุลของทีม  การเล่นเปตองเป็นทีมนั้นจะต้องจัดทีมให้มีความเหมาะสมหรือมีความสมดุล  กล่าวคือ  หากเป็นการเล่นประเภททีม 2 คน  ก็ควรจะมีทั้งมือเกาะหรือมือวาง  และมือยิงหรือมือตี  หรือจะมีมือตีทั้งสองคนก็ได้แต่ทั้งนี้หมายความว่ามือยิงหรือมือตีทั้งสองคนจะต้องมีความสามารถในการเกาะด้วย  และถ้าหากเป็นการเล่นเปตองประเภททีม 3 คน  ก็จะต้องมีการวางตัวผู้เล่นให้มีความสมดุลหรืออีกนัยหนึ่งจะต้องแบ่งหน้าที่ในการเล่นโดยจะต้องมีมือยิงหรือมือตี  มือแก้เกมหรือมือสอง  และมือเกาะ  ซึ่งหากไม่มีการแบ่งหน้าที่กันจะทำให้เกิดความขัดแย้งหรือขัดใจกันได้
นอกจากการแบ่งงานกันทำดังกล่าวแล้ว  ภายในทีมควรจะมีหัวหน้าทีมทำหน้าที่ตัดสินใจในประเด็นปัญหาเล็กน้อย  แต่หากเกิดเป็นปัญหาที่สำคัญ  ควรจะต้องเปิดโอกาสให้เพื่อนร่วมทีมร่วมตัดสินใจด้วย  เช่น  ในกรณีอย่างนั้นควรทำอย่างไร  จะเกาะหรือตี  หากความเห็นไม่ตรงกันควรจะได้มีการปรึกษาและร่วมกันตัดสินใจถึงวิธีการที่จะดำเนินการให้ได้ผลดี  เพื่อป้องกันมิให้เกิดการโต้เถียงกันซึ่งจะก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีในทีม  และป้องกันมิให้มีการว่ากล่าวกันในภายหลังด้วย  และประการสำคัญก็คือ  เมื่อเพื่อนร่วมทีมได้ดำเนินการตามวิธีการที่ได้ตัดสินใจร่วมกันแล้วแต่ผลการดำเนินการไม่เป็นไปตามที่คาดก็ควรให้กำลังใจซึ่งกันและกัน
6.  ความประพฤติ  เป็นองค์ประกอบสุดท้ายในการเลือกผู้ร่วมทีมและเป็นองค์ประกอบที่สำคัญไม่แพ้องค์ประกอบอื่นๆ ทั้งหมดที่กล่าวมาแล้ว  ทั้งนี้  เพราะว่าผู้เล่นที่มีความประพฤติไม่ดี  เช่น  ดื่มสุราเป็นอาจิณทั้งในขณะทำการฝึกซ้อมและทำการแข่งขันก็จะทำให้สมรรถภาพทางกายและความสามารถในการเล่นถดถอยลง  ฉะนั้น  ควรจะเลือกผู้ร่วมทีมที่มีความประพฤติดี  มีระเบียบวินัย  เคารพในกฎกติกาของกลุ่มด้วย
สรุป  ในการเลือกผู้ร่วมทีมในการเล่นเปตองนั้น  นอกจากจะพิจารณาองค์ประกอบทางร่างกาย  จิตใจ  ฝึมือ  การยอมรับของเพื่อนร่วมทีมแล้ว  จะต้องวางตัวผู้เล่นในทีมให้มีความสมดุลหรือมีความเหมาะสมในแต่ละทีม  บุคคลภายในทีมควรจะมีอุปนิสัยที่คล้ายคลึงกัน  มีหัวหน้าทีม  เชื่อฟังซึ่งกันและกัน  มีความเกรงใจกัน  ใช้หลักการบริหารแบบมีส่วนร่วมเข้ามาช่วยในการตัดสินใจ  ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน  ผู้เล่นเป็นผู้ที่มีระเบียบวินัย  มีความประพฤติดีและที่สำคัญคืออย่าใช้อารมณ์ส่วนตัวเป็นใหญ่  เพราะจะทำให้ผู้ร่วมทีมหมดอารมณ์ไปด้วย

2. การอ่านเกมและการแก้เกม
ในการเล่นกีฬาเปตองเพื่อการแข่งขันสิ่งที่มีความสำคัญประการหนึ่งก็คือ  การอ่านเกมและการแก้เกม  หรืออีกในหนึ่งก็คือการวางแผนการเล่น  หากวางแผนการเล่นหรือแก้เกมไม่ถูกต้องก็อาจแพ้คู่ต่อสู้ที่มีฝีมือด้อยกว่าได้  การอ่านเกมเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนจำเป็นอย่างยิ่งจะต้องอาศัยประสบการณ์และความชำนาญเป็นอย่างมาก
การอ่านเกมและการที่จะแก้เกมให้ได้ผลนั้นสิ่งที่จะต้องพิจารณาและควรคำนึงถึงคือการใช้หลัก “รู้เขารู้เรา” กล่าวคือ  จะต้องรู้ว่าผู้เล่นฝ่ายตนมีสมรรถนะในการเล่นอยู่ในระดับใดและคู่ต่อสู้แต่ละคนมีสมรรถนะเพียงใด
ความถนัดและความสามารถของตนเองและเพื่อนร่วมทีม  ก่อนอื่นผู้เล่นเปตองจะต้องรู้จักตนเองและเพื่อนร่วมทีมเสียก่อนว่ามีความถนัดในการเล่นเปตองในการเล่นแบบใดและมีความสามารถหรือสมรรถนะในทางใดเป็นพิเศษ  นอกจากจุดเด่นของแต่ละคนแล้วยังจะต้องพิจารณาจุดด้อยหรือจุดเด่นของตนเองและเพื่อนร่วมทีมด้วย
ความถนัดและความสามารถของคู่ต่อสู้  ความถนัดและความสามารถของคู่ต่อสู้เป็นสิ่งที่ผู้เล่นควรจะสังเกตและศึกษาไว้  พยายามศึกษาจุดอ่อนของคู่ต่อสู้แต่ละคนมีความถนัดและความสามารถขนาดไหนเพียงใดนั้น  หากเป็นคู่ต่อสู้ที่เคยแข่งขันหรือพบกันมาก่อนแล้วก็สามารถที่จะทราบได้  แต่ถ้าเป็นคู่ต่อสู้ที่ไม่เคยพบกันมาก่อนก็สามารถที่จะรู้ความถนัดและความสามารถของคู่ต่อสู้ได้เมื่อแข่งขันกันไปแล้ว 2-3 เที่ยว  หรือในระหว่างที่คู่ต่อสู้ทำการวฝึกซ้อมอยู่  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับไหวพริบของตนเองว่าจะสามารถสังเกตเห็นได้มากน้อยเพียงใด
จุดที่ควรสังเกตว่าตนเองและผู้ร่วมทีมรวมทั้งคู่ต่อสู้มีจุดเด่นและจุดอ่อนในเรื่องใด  มีดังนี้
- มือเกาะ  ชอบเล่นลูกเป้าระยะใกล้หรือไกล  และถนัดมือซ้ายหรือมือขวา  มีความสามารถในการตีหรือไม่
- มือตี  มีจุดอ่อนระยะเท่าใด  ใกล้หรือไกล  และมีความสามารถในการเกาะหรือไม่
- มือแก้หรือมือสอง  มีความสามารถในการตีหรือเกาะเพียงใด  รวมทั้งถนัดใช้มือข้างใด
- คู่ต่อสู้ยืนหรือนั่งเข้าในลักษณะใด  เท้าชิดกันหรือห่างกัน
- หากสนามขรุขระหรือเปียก  คู่ต่อสู่โยนลูกโด่งได้ดีเพียงใด
การวางแผนการเล่น  เมื่อศึกษาสมรรถภาพของตนเอง  เพื่อนร่วมทีมและคู่ต่อสู่แล้วก็มาดำเนินการวางแผนการเล่น  เช่น  สมมุติทราบว่ามือเกาะและมือแก้ของคู่ต่อสู่เล่นลูกระยะไกลไม่ดี  แต่ในขณะที่มือเกาะของฝ่ายเราเล่นลูกระยะไกลได้ดี  เมื่อเราเป็นฝ่ายโยนลูกเป้าให้ทำการโยนในระยะ 8 – 10 เมตร  หรือในกรณีที่มือตีของคู่ต่อสู้ตีแม่นในระยะไกล  ก็ทำการโยนลูกเป้าในระยะใกล้  เป็นต้น  ดังนั้นการวางแผนการเล่นก็คือ  การกระทำในสิ่งตรงข้ามกับจุดเด่นหรือกระทำในสิ่งที่เป็นจุดด้อยของคู่ต่อสู้นั่นเอง
การแก้เกม  ในระหว่างที่ทำการแข่งขันจะมีปัญหาที่จะต้องทำการตัดสินใจลงไปว่าจะเล่นลูกใดหรือแก้เกมโดยวิธีใด  ซึ่งเป็นเรื่องของการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อเอาตัวรอดหรือพลิกแพลงสถานการณ์ให้ดีขึ้นจากฝ่ายเสียเปรียบให้อยู่ในฐานะได้เปรียบ  การแก้เกมเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยประสบการณ์  ต้องจดต้องจำและต้องทดลองทำดู

3. กลยุทธอื่นๆ
นอกจากเทคนิคในการเล่นเปตองทั่วๆ ไป  และเทคนิคที่จำเป็นสำหรับผู้เล่นกีฬาเปตองดังได้กล่าวแล้ว  ผู้เล่นอาจจะมีกลยุทธอื่นๆ  ในการเล่นเป็นของตนเองนอกเหนือไปจากที่กล่าวไปแล้วก็ได้  สำหรับกลยุทธอื่นๆ เช่น
     1.  กลยุทธในการดำเนินการเป็นฝ่ายรุก  การเล่นเปตองไม่เพียงแต่ต้องบังคับให้คู่ต่อสู้เล่นในระยะหรือในทิศทางที่ฝ่ายตนต้องการหรือดำเนินการเล่นในลักษณะให้คู่ต่อสู้แก้ไขสถานการณ์เท่านั้น  หากมีโอกาสเป็นฝ่ายรุกก็ไม่ควรปล่อยให้โอกาสผ่านไป  การดำเนินการเป็นฝ่ายรุกก็คือ  การตีไล่ชนิดลูกต่อลูก แต่ทั้งนี้ผู้เล่นฝ่ายรุกจะต้องมีสมรรถนะในการตีที่แน่นอนและจะต้องพิจารณาสภาพสนามประกอบด้วย  หากสนามพื้นผิวขรุขระมากโอกาสที่จะเป็นฝ่ายรุกมีน้อย
     2.  การโยนกระทบ  การทำให้ลูกเปตองของคู่ต่อสู้ออกห่างไม่เพียงแต่ใช้วิธีการตีอย่างเดียวเท่านั้น  ในบางครั้งก็ใช้วิธีการโยนกระทบแทนในกรณีที่ต้องการจะหวังผล  การโยนกระทบใช้ได้ในอีกลักษณะหนึ่ง  คือ  การโยนกระทบลูกเปตองของฝ่ายตนเพื่อให้เข้าใกล้ลูกเป้าหรือให้เข้าไปในพื้นที่ที่ต้องการ  เป็นต้น
     3. การลากลูกเป้า  ใช้ในกรณีที่ลูกเปตองของฝ่ายตนเองไปรอรับอยู่ด้านบนของลูกเป้าและลูกเปตองของคู่ต่อสู้อยู่ใกล้ลูกเป้ากว่า  หรือใช้ในกรณีที่ต้องการทำแต้มให้ได้มากๆ เป็นต้น
    4. การตีตัดแต้มและการตีเพื่อเปลี่ยนเกม  การตีตัดแต้มใช้กรณีที่ฝ่ายตนได้พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่สามารถที่จะโยนลูกเปตองให้ใกล้ลูกเป้าได้ดีกว่าหรือในกรณีที่ลูกเปตองของคู่ต่อสู้อยู่ใกล้ลูกเป้ารวมกันเป็นกลุ่มอยู่ก็อาจใช้วิธีการยิงลูกเปตองของคู่ต่อสู้ออกไปเพื่อตัดแต้มได้  ส่วนการยิงเพื่อเปลี่ยนเกมนั้นใช้ในกรณีที่เมื่อพิจารณาแล้วไม่สามารถที่จะโยนลูกเปตองให้ใกล้ลูกเป้าได้ดีกว่าคู่ต่อสู้  หรือในกรณีที่สนามที่พื้นผิวเกาะยากก็ใช้วิธีการตีลูกเปตองของคู่ต่อสู้ออกไปเพื่อเปลี่ยนเกมให้คู่ต่อสู้เล่นบ้างเพราะมิฉะนั้นแล้วหากพยายามเกาะให้ชนะคู่ต่อสู้มีโอกาสที่ลูกเปตองของฝ่ายตนจะหมดก่อนมีมาก
   5. การสลับตัวผู้เล่น  บางครั้งผู้เล่นคนใดคนหนึ่งในทีมอาจจะมีจุดบอดหรือจุดอ่อนในระยะหรือทิศทางนั้นบ่อยๆ  ก็ควรสลับตัวผู้เล่นในทีมคนใดคนหนึ่งขึ้นมาเล่นแทนก่อน  เช่น  หากมือเกาะเล่นได้ไม่ดีในระยะ 6 เมตร  ก็ให้มือสองหรือมือแก้ขึ้นมาทำหน้าที่มือเกาะแทนชั่วคราวก่อน 2 – 3 เที่ยว  แล้วจึงสลับให้มือเกาะมาเล่นตามหน้าที่เดิม  หรือให้มือสองขึ้นไปทำหน้าที่ตีแทนมือตีก่อนเมื่อเห็นว่ามือตีพลาดบ่อยๆ เป็นต้น
     6. การเขียนวงกลมให้เล็กลง  คู่ต่อสู้บางคนมีความถนัดในการเล่นในวงกลมขนาดใหญ่  การเขียนวงกลมให้มีขนาดเล็กลงแต่ไม่เล็กกว่าขนาดที่กติกากำหนดก็จะเป็นทางบีบคู่ต่อสู้  ทำให้คู่ต่อสู้ซึ่งเคยเล่นได้ดีกลับเป็นเล่นได้ไม่ดี  เช่น  มือตีของคู่ต่อสู้ตีได้แม่นยำในวงกลมขนาดใหญ่  โดยยืนเท้าห่างกัน  เมื่อเปลี่ยนมาเล่นในวงกลมขนาดเล็กลงอาจทำให้ยิ่งได้ไม่แม่นยำได้

4. หลัก 10 ประการสำหรับการปฏิบัติตนในระหว่างแข่งขัน
     1. ศึกษาพื้นสนามแข่งขันว่าควรจะโยนลูกลักษณะใด
     2. ต้องมีสมาธิและการควบคุมอารมณ์ให้อยู่สภาพพร้อมที่จะเล่นและแข่งขัน
     3. ต้องมีความมั่นใจในตัวเองทุกครั้งขณะโยนหรือตีลูกเปตองออกไป
     4. ในการโยนหรือตีลูกเปตองทุกครั้งต้องมีการปรึกษากันก่อนภายในทีม
     5. หาจุดบกพร่องของตัวเองและของทีมให้ได้โดยเร็วเพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น
     6. ศึกษาวิธีการเล่นของฝ่ายตรงข้ามเพื่อสร้างเกมที่เหนือกว่า
     7. ไม่ควรตำหนิเพื่อนร่วมทีมในขณะแข่งขันโดยเด็ดขาดไม่ว่ากรณีใดๆ
     8. ให้กำลังใจแก่เพื่อนร่วมทีมเสมอถึงแม้จะทำผิดพลาดก็ตาม
     9. ให้คิดอยู่เสมอว่าลูกเปตองทุกลูกที่โยนหรือตีออกไปนั้นมีค่าเสมอ
     10. อย่าเก่งคนเดียวเมื่อเล่นเป็นทีม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น